Support
IPC Health Checkup Center
02-713-6715
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

Alpha Fetoprotein (AFP)

วันที่: 2014-06-27 12:49:29.0


เป็นแอนติเจนในกลุ่ม oncofetal antigen ซึ่งสร้างเป็นปกติโดยเยื่อบุผิวของเซลล์ถุงไข่ (yolk sac), เซลล์ตับ และทางเดินอาหารของทารกในครรภ์มารดา  มีระดับสูงสุดในเลือดประมาณสัปดาห์ที่ 13 ของทารกในครรภ์  หลังจากนั้นจะมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อใกล้คลอด จนมีระดับเท่าระดับปกติในผู้ใหญ่ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด   จึงพบ AFP สูงได้ (แต่เป็นภาวะปกติ) ในเด็กในครรภ์มารดา ทารกแรกคลอด และหญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าทารกในครรภ์มีความผิดปกติในพัฒนาการของสมอง (neural tube defect) จะสามารถตรวจพบAFP ในเลือดของมารดาและในน้ำคร่ำได้สูงกว่าระดับที่พบในหญิงตั้งครรภ์ปกติที่มีอายุครรภ์เท่ากันถึง  2-3.5  เท่า  โดยคนทั่วไปจะตรวจพบ AFP ได้ในระดับต่ำๆ

 

AFP มักมีค่าสูงกว่าปกติมากในผู้ป่วย มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma)  และมะเร็งของรังไข่ และ/หรือ อัณฑะ ชนิด embryonal cell carcinoma   รวมทั้งยังอาจพบระดับสูงขึ้นได้ในมะเร็งปอด และมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร  โดยระดับ AFP ที่ตรวจพบมักจะสัมพันธ์กับระยะของโรคมะเร็งด้วย นั่นคือ ในมะเร็งระยะต้นมักพบ AFP สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จะสูงมากขึ้นเป็นลำดับในมะเร็งระยะท้าย  นอกจากนั้นยังอาจพบ AFP สูงขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคตับอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ระดับมักไม่สูงมากนัก

 

AFP เป็น tumor marker ที่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ตรวจหามะเร็งตับ ในกลุ่มที่เสี่ยง (high-risk population) ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis), ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี (hepatitis B carrier), ผู้ป่วยโรคตับแข็ง (cirrhosis) เป็นต้น  โดยแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3 - 6 เดือน และ/หรือ ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ (ultrasound) ของตับ

 
 
 
ที่มา : สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก
โดย ผศ.พญ.ศันสนีย์  เสนะวงษ์ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล