Support
IPC Health Checkup Center
02-713-6715
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

“แมงกะพรุนกล่อง” พิษร้ายถึงตาย

IPCHealthCheckupCenter | 27-08-2557 | เปิดดู 565 | ความคิดเห็น 0
/data/content/25506/cms/e_dfgmrsuwx567.jpg
 
          “แพทย์”เตือนแมงกะพรุนกล่องสุดอันตรายชี้มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เผยพบมากในต่างประเทศ ส่วนไทยมีโอกาสพบทั้งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
          ทิ้งช่วงเพียงไม่นานที่เกิดปรากฎการณ์"แมงกะพรุน"ลอยเต็มบริเวณท่าเรือ ท่าเรืออุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ต.เพ อ.เมืองระยอง ซึ่งกรณีดังกล่าว นายบำรุงศักดิ์ ฉัตรอนันเวท ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็เพิ่งออกมากล่าวเตือนเกี่ยวกับ “แมงกะพรุนกล่อง” (box jellyfish) ซึ่งมีพิษค่อนข้างร้ายแรง ไม่กี่วันต่อมาก็ปรากฎข่าวเศร้า ด.ช.แมกซ์ มาร์ค ซาอิด มูเดีย อายุ 5 ขวบ ถูกพิษกะพรุนเสียชีวิต ขณะลงเล่นน้ำกับครอบครัวที่บริเวณหาดขวด บ้านโฉลกหลำ หมู่ 7 ต.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า แมงกะพรุนที่พบที่หาดขวดเป็นแมงกะพรุนกล่อง (box jelly fish) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษรุนแรง เมื่อถูกพิษที่บริเวณผิวหนังในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง ถ้าปฐมพยาบาลไม่ทันจะทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเร่งลงไปตรวจสอบหาทางป้องกันและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการบริเวณหน้าหาดเตือนนักท่องเที่ยวที่จะลงเล่นน้ำ นายบำรุงศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่อง ก่อนหน้านี้มีรายงานการพบใน 3 จังหวัด บริเวณอ่าวไทย คือ ระยอง จันทบุรี และ จ.ตราด และพบบางพื้นที่ฝั่งอันดามัน คือ จ.ภูเก็ต แมงกะพรุนชนิดนี้ พบในต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลียมีค่อนข้างชุกชุม เคยมีนักดำน้ำเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องมาแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักจัดการความรู้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสัตว์น้ำชนิดนี้ว่าแมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะต่างจากแมงกะพรุนทั่วไปคือ ตัวถ้วยโปร่งใสสีฟ้าอ่อน รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม ค่อนข้างยาว ประมาณ 10 - 30 เซนติเมตร แต่ละมุมจะมีหนวดเส้น เดียวหรือเป็นกลุ่ม ๆ อาจถึง 15 เส้นและยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นจะมีเซลล์พิษจำนวนมาก และมีดวงตาที่มีประสิทธิภาพสูงเกาะกลุ่มกันหกกลุ่มอยู่ทั้ง 4 ด้านรอบตัว สามารถเคลื่อนที่พุ่งตัวขึ้นสูงได้อย่างรวดเร็วและว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที มักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตอุ่น พบมากในประเทศออสเตรเลีย หมู่เกาะฮาวาย ปาปัวนิวกินี และบางประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเชีย ช่วงที่พบมากคือเดือนตุลาคม-เมษายนและหลังช่วงพายุที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้าจนใกล้ฝั่ง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลใน วิกิพีเดียที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแมงกะพรุนชนิดนี้ไว้เช่นกันว่า เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัม Cnidaria กลุ่ม Cubozoa คูโบซัว (ชั้น: Cubozoa; อังกฤษ: Box jellyfish, Sea wasp) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นหนึ่งของไฟลัมไนดาเรีย มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษเรียกโดยรวมว่า "แมงกะพรุนกล่อง" (Box jellyfish) หรือ "แมงกะพรุนสาหร่าย" หรือ "สาโหร่ง" (Sea wasp)[1] เพราะมีพิษที่ร้ายแรงและมีรูปร่างคล้ายลูกบาศก์อันเป็นที่มาของชื่อคูโบซัว จัดเป็นแมงกะพรุนที่แบ่งออกได้เป็น 2 อันดับใหญ่ ๆ โดยดูที่ลักษณะของหนวดที่มีพิษเป็นสำคัญ ได้แก่ พวกที่มีหนวดพิษเส้นเดี่ยวที่ขอบเมดูซ่า 4 มุม เช่น แมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) กับพวกที่มีหนวดเป็นกลุ่มที่ขอบเมดูซ่า 4 มุม มุมละ 15 เส้น ซึ่งจะเป็นหนวดที่ยาวมาก อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ได้แก่ Chironex fleckeri มีเข็มพิษประมาณ 5,000,0000,000 เล่มที่หนวดแต่ละเส้น ซึ่งมีพิษร้ายแรงซึมเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกต่อยได้” นอกจากนี้ยังมีการจัดทำข้อมูล “คู่มือจำแนกชนิดแมงกะพรุนกล่อง” จัดทำโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (พ.ศ.2554)ให้ข้อมูลว่า “แมงกะพรุนกล่อง” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวต่อทะเล หรือนักพ่นพิษแห่งท้องทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัม Cnidaria กลุ่ม Cubozoa ซึ่งจัดเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก (พจมาน, 2553) แมงกะพรุนกล่องมีลำตัวคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ขนาดของแต่ละด้านสามารถกว้างได้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ละมุมของรูปสี่เหลี่ยมจะมีลักษณะคล้ายขายื่นออกมาแล้วแยกเป็นสายหนวดโดยที่แต่ละมุมอาจมีหนวดมากถึง 15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ แมงกะพรุนกล่องมีลักษณะโปร่งใส อาจมีสีฟ้าอ่อน น้ำตาล เหลือง ชมพูหรือไม่มีสีจึงสังเกตเห็นได้ยากแม้แต่ในน้ำทะเลที่ค่อนข้างใส เป็นแมงกะพรุนที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองโดยสามารถพุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็วและว่ายน้ำได้เร็วถึง5 ฟุตต่อวินาทีจึงสามารถจับปลาและสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย มักอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่นตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลีย ตอนเหนือ ปาปัวนิวกินีฟิลิปปินส์หมู่เกาะฮาวายฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบในประเทศไทยที่เกาะหมาก จังหวัดตราดและเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แมงกะพรุนกล่องไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ทุกชนิด ซึ่งในบางชนิดอาจจะทำให้มีอาการเจ็บๆ คันๆ เพียงเล็กน้อย แต่บางชนิดอาจมีอันตรายต่อมนุษย์ถึงชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว (พจมาน, 2553) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษ และภูมิต้านทานของผู้ได้รับพิษด้วย
 
 
/data/content/25506/cms/e_abceijnrvwx9.jpg
 
 
สำหรับแนวทางการป้องกันการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนกล่อง (พจมาน, 2553) 1. การใช้ตาข่ายกั้น (stingernet) ในทะเล บริเวณชายหาดที่พบแมงกะพรุนกล่อง ในฤดูที่พบแมงกะพรุนมาก 2. การสวมเสื้อผ้ามิดชิดเมื่อลงเล่นน้ำทะเลเพื่อลดโอกาสสัมผัสกับแมงกะพรุนในบริเวณที่มีแมงกะพรุน รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อโดนพิษจากแมงกะพรุน โดยเน้นในฤดูที่พบแมงกะพรุนบ่อย 3. ติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวในบริเวณที่มีแมงกะพรุน รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อโดนพิษจากแมงกะพรุน โดยเน้นในฤดูที่พบแมงกะพรุนบ่อย 4. การจัดเตรียมน้ำส้มสายชูซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง ให้ราดน้ำส้มสายชูให้ทั่วบริเวณที่สัมผัสหนวดแมงกะพรุนเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที 5. การจัดอบรมผู้เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาด เจ้าหน้าที่ของโรงแรมชายฝั่งทะเลที่มีพื้นที่เสี่ยง และประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล เกี่ยวกับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
 
 
 
 
 
ที่มา : เว็บไซด์มติชนออนไลน์
เรียบเรียงข้อมูล : http://www.thaihealth.or.th/
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
 
 

ความคิดเห็น

วันที่: Sat Sep 28 02:27:23 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0